“อภิสิทธิ์” ชี้เศรษฐกิจไทยถอยหลังลงคลอง ฟื้นตัวช้าสุดในอาเซียน เผย 7 กับดักตัวฉุด ชี้ทางรอดรัฐบาลเพิ่มบทบาทไทยในเวทีโลก แก้ความเหลื่อมล้ำ ยกเครื่องระบบการศึกษา รื้อระบบภาษีเป็นอัตราก้าวหน้า คนรวยต้องจ่ายแพง เอสเอ็มอีแบงก์ชี้จุดอ่อนเอสเอ็มอีไทย “ตัวเล็กมาก-ขาดหลักประกัน” ด้าน “นายณัฐพงศ์” ย้ำต้องลดดอกเบี้ย-ลดภาษี ช่วยเอสเอ็มอี
เมื่อวันที่ 12 ต.ค.65 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ(มศว.) จัดสัมมนา “พลิกกลยุทธ์ กอบกู้เศรษฐกิจไทย” โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษ “กับดักเศรษฐกิจไทย:ทางแก้และทางรอด” ว่า เศรษฐกิจเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างมาก ซึ่งช่วงหลังเกิดโควิด-19 หลายคนต่างมองว่าน่าจะเห็นแสงอุโมงค์ แต่ขณะนี้กลับเกิดเหตุแทรกซ้อนจากปัญหามากมาย ทั้งการเมืองในประเทศ การเมืองระหว่างประเทศ สงคราม การเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทาน ทำให้เกิดการค่าครองชีพ เงินเฟ้อ กลายเป็นปัญหาใหญ่
นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า หลายคนอาจดีใจว่าเศรษฐกิจไทย ไตรมาสที่ 2 ปีนี้ฟื้นตัวแล้ว มีอัตราการขยายตัว 2.5 % แต่เมื่อเทียบประเทศอื่นในอาเซียนซึ่งขยายตัวดีกว่า ถือว่าไทยฟื้นตัวช้าที่สุด ขณะที่การจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขัน พบว่า อันดับของไทยลดต่ำลงจากช่วงก่อนโควิดเสียด้วยซ้ำ ดังนั้น ถ้าเราไม่ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจระยะยาว เราจะไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้เลย-7 กับดักฉุดเศรษฐกิจไทยไม่ฟื้น
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า กับดักเศรษฐกิจไทย จะเกิดจาก 7 เรื่องหลักๆ คือ 1. กับดักประเทศรายได้ปานกลาง ซึ่งหลายปีที่ผ่านมาไทยไม่มีการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้าง ไม่มีการพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในเรื่องเทคโนโลยี รวมถึงการพัฒนาคน 2.ภูมิรัฐศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลง ไทยเป็นเศรษฐกิจเปิด มีรายได้หลักมาจากการส่งออก ทำให้ต้องพึ่งพาภาวะเศรษฐกิจโลก แต่ตอนนี้ไทยไม่รู้ว่าตัวเองอยู่ไหน ไม่เข้าร่วมเขตการค้าเสรีของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค(CPTPP) ไม่ได้ทำข้อตกลงการค้าใหม่ ๆ เรื่องเหล่านี้มีความคืบหน้าน้อยมาก
3.การเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยี ไทยมีการใช้เทคโนโลยีอย่างมาก แต่ขาดความรู้และความพร้อมในการใช้เทคโนโลยี เมื่อปีที่ผ่านมาเป็นครั้งแรกที่ไทยเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากบริษัทเทคโนโลยีข้ามชาติ พบว่าคนไทยใช้จ่ายเงินจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น Google Facebook youtube แต่ไทยเก็บภาษีได้น้อยมาก 4.ภาวะโลกร้อน จากการสำรวจพบว่าไทยยังไม่ได้ผ่านตามเกณฑ์อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดการทรัพยากรทางน้ำ ทางทะเล ป่าไม้ ขณะเดียวกันบริษัทรับงานสาธารณโภคที่อังกฤษได้ประเมินการปล่อยก๊าชคาร์บอนเปรียบเทียบว่า ในโลกจากปี 1959 จนถึงปี 2032 ซึ่งไทยอยู่ อันดับ 2 ของโลกที่มีการปล่อยก๊าซและทำลายมากสุด
5.สังคมสูงวัย ขณะนี้สัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว กำลังจะเพิ่มเป็น 30 % ของประชากรทั้งหมดในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า คนที่อยู่ในวัยแรงงานต้องดูแลผู้สูงอายุจำนวนมาก และไทยเป็นสังคมสูงวัยก่อนสังคมที่มีฐานะ แก่ก่อนรวย
6. ภาวะหนี้สิน ไทยมีหนี้ครัวเรือนขึ้นมาอยู่ที่ 90% เป็นลำดับที่ 11 ของโลก และลำดับที่ 3 ในเอเชีย และ7.ความเหลื่อมล้ำ ไทยถูกซ้ำเติมจากโลกาภิวัตน์ เทคโนโลยี สังคมสูงวัย โลกร้อน ทำให้เกิดการผูกขาดทางธุรกิจเพิ่มอำนาจการต่อรอง แรงงาน รัฐแข่งขันลดภาษี ความผันผวน
เสนอ 3 ข้อลดเหลื่อมล้ำช่วยเอสเอ็มอี ชี้คนตัวเล็กมีถึง 20 ล้านราย ใม่ใช่แค่ 3.1 ล้าน
นายณัฐพงศ์ พันธเกียรติไพศาล ที่ปรึกษากรรมาธิการการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและยาเสพติด กล่าวถึงปัญหาเศรษฐกิจประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาว่า เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขัน เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้ประกอบการรายใหญ่กับรายเล็ก มีช่องว่างทั้งทางด้านอัตราดอกเบี้ย ภาษีและการกระจายอำนาจ
“ประเทศนี้เป็นประเทศของคนตัวเล็กตัวน้อย เป็นประเทศของเอ็มเอสเอ็มอี ถ้าตามข้อมูลของทางราชการ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีประมาณ 3.1 ล้านราย จริง ๆ น่าจะมีมากกว่านี้ เพราะว่าหลายรายคงไม่ได้อยู่ในระบบ ผมเชื่อว่าคนที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจในระดับนี้น่าจะมีถึง 20 ล้านคน ดังนั้น การออกนโยบายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจควรจะคำนึงถึงกลุ่มเอสเอ็มอีเป็นหลัก เพราะหากคนส่วนใหญ่สามารถค้าขายได้ เศรษฐกิจของประเทศก็จะมีเสถียรภาพ ช่วยลดผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน ทางออกมีทางเดียว คือ การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทั้งระบบ ซึ่งส่งผลต่อโครงสร้างเศรษฐกิจที่แข็งแรงและสมดุลขึ้น พัฒนาอย่างทั่วถึง ที่สำคัญคือ จะส่งผลต่อการลดความขัดแย้งในทุกมิติของสังคม โดยเฉพาะความขัดแย้งทางการเมืองในภาคประชาชน”
นายณัฐพงศ์กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำในประเทศ ต้องเร่งแก้ใน 3 เรื่อง ได้แก่ 1.ความเหลื่อมล้ำเรื่องอัตราดอกเบี้ย ซึ่งผู้ประกอบการรายเล็กกับรายใหญ่จะต้องมีภาระดอกเบี้ยเงินกู้หรือความสามารถในการเข้าถึงแหล่งทุนที่ไม่ต่างกันมากจนเกินไป 2.นโยบายด้านภาษีของประเทศจะต้องมุ่งช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยคนที่มีรายได้สูง บริษัทขนาดใหญ่ควรต้องเสียภาษีในอัตราก้าวหน้า ขณะที่คนตัวเล็กต้องมีภาระภาษีในอัตราที่ต่ำกว่า 3.เน้นการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น กระจายงบประมาณไปให้ทั่วถึง เพื่อให้ประเทศได้รับการพัฒนาในทุกระดับ ไม่กระจุกตัว
จุดอ่อน SMEs ไทยขาดสภาพคล่อง
ด้าน น.ส.นารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการธนาคารวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) กล่าวในหัวข้อ “กลยุทธ์เอสเอ็มอีสู่มั่นคงและมั่งคั่ง” ว่า SMEs ในประเทศไทยมีทั้งหมดมากกว่า 3 ล้านราย และมากกว่า 87% เป็นรายย่อย (MICRO ) ส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคการค้าและบริการ ซึ่งจีดีพีของเอสเอ็มอีมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจรวมประมาณ 1 ใน 3 หรือมีสัดส่วน 35.3% ของจีดีพีประเทศ เอสเอ็มอีจ้างแรงงาน 12.6 ล้านคน คิดเป็น 33.5% ของการจ้างงานทั้งประเทศ ขณะที่มูลค่าส่งออกของเอสเอ็มอี 13.7% ของมูลค่าส่งออกของประเทศ
“ปัญหาที่มีมายาวนานของเอสเอ็มอีไทย คือ เอสเอ็มอีเข้าไม่ถึงแหล่งทุนจากสถาบันการเงิน ซึ่งจากการสำรวจถึงสาเหตุ พบว่า ขาดหลักทรัพย์ค้ำประกัน 24.02% ไม่มีแผนธุรกิจที่ดิ 19.94% ขาดประวัติการชำระเงิน/เป็นกิจการใหม่ 15.11% ขาดศักยภาพในการทำกำไร/ความสามารถชำระหนี้ได้ 12.82% กิจการไม่เป็นที่รู้จักของสถาบันการเงิน 11.21% ขาดการจัดการทางการเงิน 3.81% เจ้าของหรือผู้บริหารไม่มีความสามารถ 1.33%” น.ส.นารถนารี กล่าว
น.ส.นารถนารี กล่าวต่อว่า เอสเอ็มอีได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างมาก โดยเฉพาะเอสเอ็มอียิ่งเล็กยิ่งกระทบมาก อย่าง ระบบรายย่อย (MICRO ) กระทบ 77.8% จุดอ่อนที่เอสเอ็มอี ต้องเร่งปรับตัว คือ ปัญหาขาดสภาพคล่อง และมีช่องว่างที่จะพัฒนาธุรกิจได้อีกหลายด้าน เพราะเอสเอ็มอี ที่มีตราสินค้า มาตรฐานผลิตภัณฑ์และบริการ รวมถึงการใช้ BCG Model ในธุรกิจยังอยู่ในสัดส่วนที่น้อย