เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2563 นายณัฐพงศ์ พันธเกียรติไพศาล ประธานกรรมการการเคหะแห่งชาติ และนายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ ร่วมหารือกับ นางวรางคณา สุขประเสริฐ Government Manager บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG พร้อมทีมงาน เพื่อหาแนวทางการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยโดยใช้นวัตกรรม 3D Printing ณ ห้องประชุมชั้น 15 อาคาร 1 สำนักงานใหญ่ การเคหะแห่งชาติ
.
การเคหะแห่งชาติมีแนวคิดที่จะนำนวัตกรรมเครื่อง 3D Printing มาใช้ในการพัฒนาโครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัย เพื่อย่นระยะเวลาการทำงานให้รวดเร็วและเสร็จทันตามกำหนด จึงได้หารือกับ SCG ถึงแนวทางความเป็นไปได้ในการนำเครื่อง 3D Printing มาทดลองสร้างบ้านสำหรับผู้มีรายได้น้อยของการเคหะแห่งชาติในอนาคต
.
ทั้งนี้ SCG ได้เริ่มศึกษาการทำงานของเครื่อง 3D Printing ตั้งแต่ปี 2558 เพื่อผลิตปูนคอนกรีตสำหรับส่งออกไปยังต่างประเทศ และในปี 2563 ทาง SCG ได้นำเข้าเครื่อง 3D Printing ขนาดใหญ่มาใช้ในงานก่อสร้าง ซึ่งเครื่องดังกล่าว มีประสิทธิภาพสูงในการขึ้นรูปร่างของผนัง หรืออาคารทั้งหลังที่มีความสลับซับซ้อนโดยใช้ระยะเวลาเพียงไม่กี่วัน หากเป็นแบบบ้านที่มีผนังเรียบจะใช้เวลาในการพิมพ์ไม่เกิน 2 วัน สามารถออกแบบเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวได้ มีน้ำหนักเบา อุณหภูมิภายในชิ้นงานหลังจากพิมพ์เสร็จจะเย็นกว่าภายนอก 3 – 5 องศาเซลเซียส ผนังมีคุณสมบัติกันเสียงได้ดี ใช้จำนวนแรงงานก่อสร้างน้อย เพราะไม่ต้องเทปูน มีความปลอดภัย ไม่มีฝุ่นละออง มีเศษขยะน้อย และสามารถนำคอนกรีตมารีไซเคิลได้
.
สำหรับการใช้นวัตกรรม 3D Printing ในการสร้างที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติจะต้องมีการวางแผนและศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตและการเคลื่อนย้ายสูง หากมีการก่อสร้างในปริมาณน้อยจะไม่คุ้มค่าในการขนย้ายและติดตั้งเครื่อง